เคล็ดไม่ลับ การทำธุรกิจสำหรับคนทุนน้อย จะแนะนำวิธีลงทุนอย่างไรไม่ให้พลาด การเริ่มธุรกิจจากทุนน้อย จะช่วยให้ได้ใช้สมองคิดหาทางทำธุรกิจอย่างเต็มที่ มีความรอบคอบในการใช้เงิน เป็นพื้นฐานที่ดีเมื่อธุรกิจมีขนาดใหญ่มากขึ้น เมื่อผ่านประสบการณ์มามากจึงยากจะผิดพลาด แต่หลายคนก็เจ๊งไม่เป็นท่าเสียก่อน ซึ่งก็มีหลายเรื่อง ที่ทำให้พลาด โดยสาเหตุใหญ่ก็มาจากตัวผู้ลงทุนเอง

 

 

เมื่อมีทุนน้อยในการทำธุรกิจอะไรก็ตาม ต้องวางแผนค่อนข้างมากเป็นเรื่องปกติ ต้องคิดอ่าน วิเคราะห์อย่างรอบคอบที่สุด หาข้อมูลอย่างดี ยิ่งเป็นการใช้เงินก้อนสุดท้ายด้วยแล้ว ยิ่งต้องวางแผนให้สุดยอด ไม่ว่าจะมีแค่หลักร้อยหรือหลักพันบาท ก็สามารถเริ่มต้นธุรกิจได้ทั้งนั้น เงินทุนยิ่งน้อยสมองยิ่งถูกใช้งานมาก ฉลาดมากขึ้น บางที อาจจะเจอไอเดียดีๆ ทำให้ตั้งตัวได้ทันที ส่วนคนที่มีทุนมาก ส่วนใหญ่มักจะชะล่าใจ และเจ๊งไม่เป็นท่าเช่นกัน

 

หัวข้อทั้งหมดในบทความนี้

  1. ตัวอย่างการบริหารเงินกรณีมีทุนน้อยให้ผิดพลาดน้อยที่สุด
  2. มีทุนน้อย ความมีระเบียบวินัย สำคัญที่สุด
  3. การยืมเงินคนอื่นมาลงทุน ต้องรีบคืนให้เร็วที่สุด
  4. อย่าพลาดลงทุนกับของที่ขายไม่ได้
  5. ทุนน้อย ต้องระวังอย่าให้ใครยืมเงิน ทุนหาย ยิ่งตั้งตัวยาก
  6. อย่าชะล่าใจใช้จ่ายผิดทาง เมื่อกิจการทำท่าจะไปได้ดี
  7. ระวังธุรกิจที่มีวันหยุดยาว
  8. พยายามต่อยอดขยายกิจการให้เร็ว

 

ตัวอย่างการบริหารเงินกรณีมีทุนน้อยให้ผิดพลาดน้อยที่สุด

ผู้เขียนได้คลุกคลี คบค้ากับคนหลายระดับ จึงได้เห็นการใช้เงินลงทุนเรียกได้ว่าตั้งแต่ระดับชาวบ้าน หลักร้อย จนถึงหลักหลายล้านบาท ซึ่งก็ได้เห็นความผิดพลาดทั้งของคนอื่นและตัวเอง เช่น

 

1. มีทุนน้อย ความมีระเบียบวินัย สำคัญที่สุด

ความมีระเบียบวินัยในการใช้จ่ายสำคัญที่สุด ต้องควบคุมการเงินให้ดี จะจ่ายอะไรออกไป ต้องคิดให้รอบคอบ เพราะทุนน้อยๆ พลาดนิดเดียวก็จบได้ แม้จะแค่หลักสิบหลักร้อยก็ตามที บางคนขายลูกชิ้นทอดตามตลาดนัด กำไรที่ได้ ก็ต้องมีเบยวันละขวดสองขวด รวมทั้งเดือนก็ 1800-3200 บาทขึ้นไปแล้วนะ หากคิดทั้งปีก็ประมาณ 21,600 - 38,400 บาท น้อยเสียที่ไหนกันหรือบางคนกินกาแฟแก้วละๆ 30 บาททุกวัน ต่อเดือนก็ 900 ทั้งปีก็ 10,800 บาท นี่ยังไม่รวมรายจ่ายเล็กๆ น้อยๆ อีกหลายรายการที่เรามักจะจ่ายโดยไม่ได้คิดให้รอบคอบ อย่าดูถูกเงินหลักสิบหลักร้อยเชียวนะ รวมทั้งปีแล้วอาจจะเกิน 50,000 บาท เลยทีเดียว

 

2. การยืมเงินคนอื่นมาลงทุน ต้องรีบคืนให้เร็วที่สุด

หากเป็นการยืมคนอื่นมาลงทุน ต้องเร่งหาทางคืนทุนให้เร็วที่สุด หรือรีบกันเงินแยกไว้ต่างหาก ต้องมีระเบียบวินัย หลายคนมักจะพลาด พอเริ่มมีกำไรแล้ว ก็ได้ใจคิดว่า เดี๋ยวก็จะมีรายรับเข้ามา สามารถคืนได้แน่นอน จากนั้นจะเริ่มขาดวินัยทางการเงิน สุดท้ายก็ไม่สามารถคืนเงินที่ยืมมาได้ ไม่ว่า จะทำลงทุนมากหรือน้อย เรื่องเครดิตสำคัญมาก โดยเฉพาะการยืมเงิน นัดต้องเป็นนัด คนระดับล่างๆ จะเป็นกันมาก ยืมแล้วไม่คืน ไม่หนี ไม่จ่าย แถมยังมึนหน้าด้านไปยืมเพิ่มอีก ไม่ให้ก็โกรธอีกต่างหาก

 

3. อย่าพลาดลงทุนกับของที่ขายไม่ได้

การมีทุนน้อยหรือทุนมากก็ตาม พยายามหลีกเลี่ยงการลงทุนกับข้าวของที่ขายไม่ได้ เช่น การมีเงิน 50,000 ก็เอาไปลงทุนผลิตสินค้าทั้งหมด ซึ่งสามารถขายได้ทั้งหมด ในขณะที่หากเอาเงินไปลงทุนกับข้าวของ เช่น ซื้อโต๊ะเก้าอี้ อุปกรณ์แต่งร้าน ฯลฯ สิ่งของที่ขายไม่ได้เหล่านี้ ก็จะทำให้เงินจมไปกับข้าวของ

 

ในขณะที่เอาไปลงกับสินค้า จะมีโอกาสทำกำไร คืนทุน และโอกาสขาดทุนจะน้อยมาก ทุนยิ่งน้อย ยิ่งต้องหลีกเลี่ยงอย่างเด็ดขาด เพื่อนของผู้เขียนลงทุนทำร้านอาหาร โดนมักจะเน้นที่การแต่งร้านเป็นหลัก แต่ไม่เน้นเรื่องอื่น เช่น โต๊ะไม้ตัวละ 1000 บางตัวก็ 4000 ข้าวของเครื่องใช้ แพงๆ และก็เจ๊งไม่เป็นท่ามาโดยตลอด แม้จะพยายามเปิดร้านหลายครั้ง แทนที่จะไปเน้นเรื่องแม่ครัว เน้นเรื่องคน เน้นเรื่องอาหาร การบริหาร แต่ดันไปเน้นเรื่องการจัดร้าน

 

4. ทุนน้อย ต้องระวังอย่าให้ใครยืมเงิน ทุนหาย ยิ่งตั้งตัวยาก

คนมีทุนน้อย ส่วนใหญ่จะอยู่ในสังคมคนที่ขาดวินัยการเงิน แวดล้อมไปด้วยคนทุนน้อยเหมือนกัน เมื่อเริ่มทำมาค้าขาย เริ่มมีกำไร คนเหล่านั้นก็จะเข้ามาหยิบยืมเงิน เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะคนเหล่านั้นน้อยคนจะสามารถคืนได้ตรงเวลา หรือไม่คิดจะคืน แทนที่จะตั้งตัวได้ กลับกลายเป็นว่าทรุดหนักกว่าเดิม บางคนไปหยิบยืมเงินคนอื่นมาทำทุน พอเริ่มจะไปได้ดี ก็มีคนรู้จักมาหยิบยืมเงิน ความที่เกรงใจ ปฏิเสธไม่ได้ ให้ไปแล้วไม่คืน กำไรก็หด เพราะทุนลด แถมอาจจะแย่ไม่มีเงินคืน เจ้าหนี้ ยิ่งพาชีวิตตกต่ำไปกันใหญ่

 

5. อย่าชะล่าใจใช้จ่ายผิดทาง เมื่อกิจการทำท่าจะไปได้ดี

การลงทุนในช่วงแรกๆ นั้น บางทีเหมือนสวรรค์หรือโชคชะตาช่างเป็นใจเหลือเกิน ค้าขายดี มีกำไร ทำให้หลายคนชะล่าใจ ประมาท และส่วนใหญ่จะลงเอยคล้ายๆ กันคือม้วนเสื่อกลับบ้าน บางคนเริ่มลงทุนด้วยเงินน้อยมาก ไม่ถึงพันบาท ซื้อลูกชิ้นมาปิ้งขาย กำไรวันละ 500 แต่ฉลองยอดขาย วันละหลายขวดทุกวัน เพราะกำไรดี ชะล่าใจ ไม่นานก็ต้องหยุดขาย เพราะเงินที่นำมาซื้อของเพื่อลงทุนก็เป็นเงินกู้รายวัน ลำบากต้องหนีพวกกู้รายวันอีกต่างหาก เพราะไม่มีเงินจ่ายดอกเบี้ย

 

บางคนเปิดร้านค้าขายของทั่วไป มีทีว่าว่าจะทำกำไรได้ดี ก็เริ่มประมาท กำไรที่ได้แทนที่จะบริหารให้ดี แต่กลับนำไปใช้ผิดทาง ซื้อล็อตเตอรี่ เดือนๆ ก็เกินพันบาท ประมาทจากที่ทำท่าว่าจะไปได้ดี อยู่ๆ ก็ทรุดหนัก ย่ำแย่จนต้องปิดร้าน

 

เมื่อกิจการเริ่มจะไปได้ดีมีกำไร ต้องมีวินัยและเตือนสติตัวเองว่า อย่าประมาท จงคิดว่า โชคชะตากำลังทดสอบ และอีกไม่นานก็จะดิ่งลง รายรับจะหดหาย ต้องรีบกันเงินแยกเก็บ หรือลงทุนเพิ่ม หรือหาทางต่อยอด หรือหากมีหนี้ หยิบยืมมา ต้องรีบคืนทุนให้เร็วที่สุด อย่าเพิ่งใช้จ่ายอะไรที่ไม่จำเป็น อย่างเด็ดขาด

 

หากลองสังเกตุให้ดี เรื่องแบบนี้ไม่ใช่จะเกิดกับคนทำมาค้าขาย ลงทุนเล็กๆ น้อยๆ แม้แต่ร้านอาหารที่มีลูกค้าประจำอยู่แล้ว บางครั้งอะไรๆ ก็ทำท่าว่าจะดี แต่จู่ๆ ก็ดิ่งลงอย่างน่ากลัว บางคนทำโรงงานคัดแยกพลาสติก แต่ละเดือนมีรายได้เงินหมุนเวียนหลักสิบล้าน ร้านอาหารค้าเล็กๆ ขายกับข้าว ขายของ ให้คนงานในโรงงานนี้ มีกำไรเดือนหลักหมื่น ก็ชะล่าใจ ไปถอยรถป้ายแดงกัน ปรากฏว่าโรงงานเจ๊ง เพราะกู้เงินเพื่อเพิ่มทุนไม่ได้ ก็พากันเจ๊งตามกัน

 

คนมีเงินเดือนก็ไม่ต่างกัน บางคนโบนัสออก ได้มาก้อนใหญ่ นำเงินไปดาวน์รถ หรือจับจ่ายใช้สอย ฟุ่มเฟือย ทำงานไปได้อีกไม่กี่เดือน ปรากฏว่า โดนให้ออก ไม่จ้างงานต่อ ชีวิตจบกันเลย เวลาที่อะไรๆ เริ่มเหมือนจะดูดี อย่าได้ประมาท ให้ดูไปสักพัก เพราะดวงคนบางครั้ง ขึ้นเร็วลงเร็ว แถมลงแบบ จมดินเลยทีเดียว

 

6. ระวังธุรกิจที่มีวันหยุดยาว

การเปิดร้านค้า ร้านอาหารใกล้สถานศึกษาเป็นกรณีศึกษาที่ชัดเจนในเรื่องนี้ หลายร้านขายดีมาก แต่พอถึงช่วงปิดเทอมใหญ่ ก็มักจะต้องเลิกกิจการด้วยเช่นกัน จากที่เคยขายดีมาก แต่ปิดเทอมไม่มีเด็กนักเรียน นักศึกษา รายได้ลดน้อยลง ก็ต้องหยุดไปก่อน บางรายก็กลับมาเปิดร้านอีกครั้งพร้อมกับการเปิดเทอม บางร้านก็หายไปเลย แต่รวยแล้วเลิกกิจการ ก็คงจะไม่น่าใช่

 

ผู้เขียนเป็นคนชอบสังเกตุและตะลอนอุดหนุนหลายร้าน ในช่วงปิดเทอมร้านที่อยู่ได้ มักจะเป็นร้านที่มีเปิดขายในบ้านตัวเอง มีลูกค้าหลากหลาย ไม่เน้นแค่บางกลุ่ม ไม่มีค่าเช่าที่ ไม่เครียดมากนัก บางร้านก็ไม่ได้อยู๋ในทำเลที่ดีนัก แต่มีลูกค้าขาประจำ แต่ร้านที่อยู่ไม่ได้จะเป็นร้านที่ต้องเสียค่าเช่า เน้นลูกค้าเฉพาะกลุ่ม มีรายจ่ายตามมาค่อนข้างมาก

 

7. พยายามต่อยอดขยายกิจการให้เร็ว

การมีทุนน้อยก็สามารถขยายกิจการต่อยอดได้เร็ว บางคนขายหมูปิ้งช่วงเช้ามีรายได้ดี ก็หาอย่างอื่นมาขายเพิ่มเช่น ติ่มซำ ซาลาเปา น้ำผลไม้ ค่อยๆ เพิ่มสินค้าทีละนิด เป็นการต่อยอดทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นทีละหน่อย ก็จะสามารถขยายกิจการไปได้เรื่อยๆ ในขณะที่บางคนใช้เงินผิดทางฉลองยอดขายทุกวันๆ ละขวด ก็ยากจะตั้งตัว ทุนน้อยอยากรวยเร็วต้องรีบขยายกิจการ

 

อย่างการเปิดร้านอาหาร ควรออกแบบเมนูไว้หลายแบบ เช่น เมนูสำหรับลูกค้าในร้าน เมนูส่งตามบ้าน เมนูรองรับปิดเทอมยาว ฯลฯ ไม่พยายามต่อยอด ก็รอดยากก

 

สรุป

ทุนน้อย ก็สามารถตั้งตัวได้ ทำธุรกิจได้ ค้าชายได้ ไม่จำเป็นต้องมีทุนมาก แล้วค่อยเริ่มทำ เพราะทุนจะมากหรือน้อย หากไม่มีวินัยในชีวิต ไม่มีวินัย การเงิน บริหารเงินไม่เป็น ไม่ให้ความสำคัญกับเงินที่หยิบยืมมา เบี้ยวนัด ก็ยากจะทำมาค้าขึ้น มีพันก็หมดพัน มีแสนก็หมดแสน

 

คนมีทุนน้อย สามารถรวยได้ ตั้งตัวได้เร็ว ด้วยการสร้างคุณสมบัติประจำตัวที่เข้มแข็ง เช่น ความมีวินัย ความซื่อสัตว์ ความตรงต่อเวลา ความน่าเชื่อถือ คุณภาพการบริการและสินค้า ยิ่งดีมากเท่าไหร่ ก็จะมีโอกาสไปได้ดีเท่านั้น เพราะใครก็กล้าที่จะหยิบยื่นมือไปช่วยเหลือ สามีภรรยาคู่หนึ่งซึ่งผู้เขียน ประทับใจมาก ขายไส้กรอกอีสาน มีรถเข็นเล็กๆ คันเดียว แต่สามารถกู้ธนาคารซื้อตึกราคาเกิน 2 ล้านกว่าได้ ธนาคารให้ผ่านเพราะหลักฐานการเงินดี เมื่อซื้อตึกแล้ว ก็ยิ่งทำมาค้าขึ้น ทั้งขายไส้กรอกในตลาดสดและขายของหน้าตึกตัวเอง ตอนนี้รวยมาก ปังมาก กิจการไปได้ดี