บทความนี้จะมาแชร์ประสบการณ์การบาดเจ็บ ปวดหลัง ปวดเอว เฉียบพลัน สาเหตุ การดูแลตัวเองเบื้องต้นให้หายเร็วๆ ไม่เจ็บปวดมาก การกินยา การขยับตัว เคลื่อนไหว การนอน การเตรียมหยูกยาสำคัญไว้ติดบ้าน ตลอดจนการป้องกัน ไม่ให้เกิดอาการบาดเจ็บแบบนี้ และวิธีสังเกตุลางบอกเหตุที่จะเกิดการเจ็บป่วยแบบนี้ เพื่อเตรียมรับมือไม่ให้ทุกข์ทรมานกับความเจ็บปวดมากนัก

 

ผู้เขียนเกิดการบาดเจ็บ ปวดหลัง บั้นเอวเฉียบพลัน 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 10 กว่าปี แต่จำได้ดี ลักษณะอาการ ความรุนแรงคล้ายกัน ครั้งแรกค่อนข้างหนัก เพราะไม่มีความรู้ แต่ครั้งที่ 2 นั้น ไม่หนักมาก เพราะมีข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลรักษาตัวเอง ให้ศึกษาและปฏิบัติตาม ทำให้สามารถดูแลตัวเองในเบื้องต้นได้ทันท่วงที ไม่เจ็บปวด ทรมานมาก เหมือนครั้งแรก

 

สาเหตุที่เกิดการปวดหลัง ปวดเอวเฉียบพลัน

การปวดเอว ปวดหลัง เฉียบพลัน เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
1. การเดิน ขยับตัว ผิดท่า แม้จะเป็นการขยับตัวช้าๆ ก็ตาม ดังนั้นต้องระวังในเรื่องนี้ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากแล้ว

2. การยืดตัว เอื้อม ก้ม ไปหยิบสิ่งของ ยกของหนัก ต้องทำให้ถูกต้อง เพื่อป้องกันไว้ก่อน เช่น ใช้การย่อตัว แล้วหยิบสิ่งของ แทนการก้มไปหยิบ หรือเดินไปหยิบใกล้ๆ แทนการเอื้อมไปหยิบ
3. การเจ็บป่วยอื่นๆ การไอ จาม ที่รุนแรง ดังนั้นหากกำลังจะไอหรือจาม ที่ค่อนข้างรุนแรง ให้ใช้มือยันหัวเข่าเอาไว้ หรือยัน จับ ยึด ผนัง สิ่งของรอบตัว ให้มีที่ยึดจับมั่นคง แล้วจึง ไอ หรือ จาม หนักๆ ได้ตามต้องการ

 

ประสบการณ์ส่วนตัว ปวดเอวเฉียบพลัน 2 ครั้ง

สำหรับประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยเกิดมาแล้ว 2 ครั้ง ห่างกันประมาณ 10 กว่าปี แม้จะออกกำลังกายบ่อยๆ จนคิดว่าร่างกายแข็งแรง ไม่น่าจะเจ็บป่วยได้ง่ายๆ แต่แท้ที่จริงแล้วอาจจะไม่ใช่อย่างที่คิด ครั้งแรกที่ผู้เขียนเป็นนั้น เกิดจากการขยับตัวผิดท่า ผิดจังหวะ มีเสียงดัง กรุ๊บ (คล้ายเสียงหักนิ้วมือ) ที่บริเวณบั้นเอว ส่วนการเกิดครั้งที่ 2 จะเป็นยื่นมือไปหยิบสิ่งของที่ไกลตัวเกินไป ก็มีเสียงดัง กรุ๊บ คล้ายกัน

 

ข้อสังเกตุที่เหมือนกัน จากนั้นอีกประมาณ 30 นาทีต่อมา ก็เริ่มมีอาการ ปวดหนึบๆ บริเวณบั้นเอว และมีอาการกล้ามเนื้อรัดตัว เมื่อขยับผิดท่า ซึ่งจะเจ็บมาก ขยับตัวแทบไม่ได้ จะปวดขึ้นมาทันที ปวดเหมือนเส้นเอ็น กล้ามเนื้อดึงเข้าหากัน คล้ายเป็นตะคริว อาการนี้เป็นอาจจะเป็นอันตราย เพราะขณะกล้ามเนื้อรัดตัว ไม่เพียงเจ็บปวดมาก แต่การควบคุมตัวเอง จะทำได้ยาก อาจจะล้มหัวพาดพื้น ก็ได้ ตามแต่ความรุนแรงของกล้ามเนื้อบริเวณเอว บริเวณท้องที่รัดตัว

 

และประมาณ 1 ชั่วโมงหลังจากนั้น ก็เริ่มมีอาการเหมือนกับว่า ร่างกายถูกแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนบนตั้งแต่เอวถึงศรีษะ และส่วนเอวลงไปถึงเท้า จะควบคุมไม่ได้ การขยับขา จะสร้างความเจ็บปวดมากหากขยับผิดท่า เพราะกล้ามเนื้อรัดตัว ใครเคยเป็นตะคริว อาการก็จะคล้ายแบบนั้น นี่คือช่วงเวลาที่ทรมานมากที่สุด จะเดิน นั่ง ยืนนอน ยิ้ม ฯลฯ เจ็บปวดทุกท่า

 

สิ่งที่ต้องเตรียมตัว เมื่อพบว่า เคลื่อนไหวผิดวังหวะ และมีอาการเจ็บปวด

จากประสบการณ์ส่วนตัวอยู่คนเดียว การเจ็บป่วยแบบนี้ เป็นเรื่องที่สร้างความทรมานอย่างมาก เพราะเหมือนคนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และคนอื่นก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้ ดังนั้นหากพบว่าตัวเองได้ขยับตัวผิดจังหวะ ทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวด แถวๆ บริเวณบั้นเอว มีเสียงกระดูกลั่นดัง กรุ๊บ! (คล้ายเสียงหักนิ้วมือ) ขอให้เตรียมตัวตามนี้
1. ยาแก้ปวดต่างๆ ยาคลายกล้ามเนื้อแนะนำให้ซื้อติดบ้าน ก็คือ Ibuprofen เผื่อรับมือกับการบาดเจ็บ และปวดรุนแรง


2. อาหารที่กินง่าย เช่น ขนมปัง การกินยาแก้ปวด จะต้องกินหลังอาหารทันที เพราะยามีผลต่อกระเพราะอาหาร
3. เตรียมในเรื่องเครื่องดื่ม ข้าวของเครื่องใช้ที่หยิบจับได้ง่าย ไม่มีน้ำหนักมาก การยกของหนัก จะต้องใช้กล้ามเนื้อท้อง และเอว ซึ่งกำลังมีปัญหา เมื่อออกแรงก็จะทำให้กล้ามเนื้อบีบรัดตัว จนไม่สามารถทำได้
4. เตรียมที่นอน ที่ลุกได้ง่าย ดีที่สุด ก็คือที่นอนราบกับพื้น การนอนบนที่นอน บนเตียง หากมีอาการรุนแรง อาจจะลุกไม่ขึ้นเลย กรณีปวดหนัก ปวดเบาจะลำบาก ซึ่งคนอื่นก็จะไม่สามารถช่วยเหลือได้ เพราะเพียงแต่ตัวเราเองขยับตัว กล้ามเนื้อจะบีบรัด ทำให้เจ็บปวดมาก คนอื่นมาช่วยยกตัว จะยิ่งเจ็บมาก
5. เตรียมน้ำแข็งเอาไว้ประคบหลัง บั้นเอว ใช้ทั้งถุงเลยก็ได้ ง่ายดี เจาะรูตรงกลาง ไว้ระบายน้ำ

 

สิ่งที่ต้องทำทันที เมื่อพบว่า เกิดเจ็บปวดหลังเฉียบพลันแน่แล้ว

วิธีดังที่กล่าวต่อไปนี้ เป็นประสบการณ์ตรงส่วนตัว หลังจากเกิดเป็นครั้งที่ 2 ก็รับมือได้เร็ว แค่วันเดียว ก็พอจะใช้ชีวิตตามปกติได้ แต่ครั้งแรกนั้น ไม่รู้วิธีรักษาตัวเอง จึงลำบากมาก เดินตัวงอ เหมือนคนแก่แต่น่าเกลียดกว่ามาก เพราะต้องเดินแบบเอียงๆ เหมือนคน เส้นยึด บางทีก็ต้องใช้มือขยุ้มหัวเข่าช่วยลากขาไปข้างหน้า ขาไม่มีแรง ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เจ็บปวดมากนัก สามารถเคลื่อนไหวได้สะดวก แนะนำดังนี้
1. เมื่อพบว่า เริ่มมีอาการเจ็บปวดเฉียบพลันแน่แล้ว ก็กินอะไรรองท้อง แล้วกินยาแก้ปวดทันที เจ็บมาก ก็ต้องใช้ยาที่ออกฤทธิ์แรงมากขึ้น อย่าง Ibuprofen
2. หาน้ำแข็งมาประคบบั้นเอว ประมาณ 1-3 วันแรกๆ เพื่อป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้ออักเสบมากไปกว่านั้น ให้นำผ้ามาพันรอบเอวก่อน แล้วจึงใช้น้ำแข็งประคบ จะช่วยป้องกันไม่ให้น้ำไหลหยดลงด้านล่างได้
3. ให้ดูว่า การเจ็บปวดมีความรุนแรงมากแค่ไหน โดยเฉพาะต่อการเคลื่อนไหว การขยับตัว ทำได้ยากง่าย มากน้อยเพียงใด ถ้าขยับตัวนิดเดียวแล้วปวดมาก อย่านอนบนเตียง ถ้ามีอาการหนัก ห้ามนอนหงาย อาจจะลุกไม่ขึ้น เพราะเพียงแค่ขยับตัว กล้ามเนื้อจะรัดตัว ทำให้ปวดมาก จนขยับไม่ได้ และเหนื่อยจนหมดแรง ลุกไม่ขึ้น ให้เน้นนอนคว่ำราบกับพื้น ก็พอจะคืบคลานเข้าห้องน้ำ หรือ คลานไปหยิบข้าวของได้ง่ายกว่า ถ้านอนบนเตียง กว่าจะลงจากเตียงได้ ไม่ง่ายนัก ยิ่งนอนหงายด้วยแล้ว กว่าจะพลิกตัว กว่าจะลงจากเตียงได้ แค่คิดก็ทรมานมาก
4. การนั่งบนเก้าอี้ ต้องพยายามตั้งตัวให้ตรง แต่หากมีการเจ็บปวดรุนแรง เวลาขยับตัว กล้ามเนื้อบริเวณท้อง มีการบีบรัดตัวมาก ก็ต้องจับยึดให้ดี เน้นใช้มือยึดจับให้มั่นคง ก่อนจะขยับตัว เพราะอาจจะเกิดการตกเก้าอี้ หัวฟาดพื้นได้
5. ศึกษาวิธีดูแล รักษาตัวเอง เบื้องต้น ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญ หมอ พยาบาล นักกายภาพบำบัด หลายท่าน ได้ทำวิดีโอให้ความรู้

 

การควบคุมท่วงท่า การเคลื่อนไหว เพื่อลดความเจ็บปวด

เมื่อเกิดการเจ็บปวดเฉียบพลัน บริเวณหลัง หรือบั้นเอว จะทำให้การควบคุมร่างกาย ทำแทบไม่ได้ เหมือนท่อนล่างเอวลงไป กับลำตัวท่อนบน ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน ขาแทบไม่มีแรงขยับ และการเคลื่อนไหวขยับผิดท่า ก็จะทำให้ปวดมาก เพราะกล้ามเนื้อรัดตัว จากประสบการณ์ตรง แนะนำตามนี้
1. ต้องกินยาแก้ปวด และประคบด้วยน้ำแข็ง เพื่อป้องกันไม่ให้เจ็บปวดมากเกินไปนัก ถ้าไม่กิน บอกได้คำเดียวเลยว่า ทรมานมาก เจ็บปวดมาก เวลากล้ามเนื้อท้องรัดตัว
2. ทุกครั้งที่จะขยับตัว จะต้องใช้มือจับยึด สิ่งของรอบตัวให้มั่นคง เน้นใช้มือเป็นตัวยึด อย่าให้อวัยวะตั้งแต่ช่วงเอวลงไป ขยับ เพราะอาจจะทำให้กล้ามเนื้อรัดตัว จะสร้างความเจ็บปวดอย่างมาก
3. การขยับตัว จะลุกยืน หากไม่มีอะไรจับยึด ให้จับหัวเข่าให้มั่น แล้วขยับตัว ยืน เดิน ผู้เขียนเจ็บหนักมาก จนบางครั้ง ไม่สามารถควบคุมขาให้เดินได้ ต้องใช้มือช่วยจับหัวเข่ายกเท้าให้ไปยังทิศทางที่ต้องการ และจะเจ็บปวดมาก หากผิดท่า เพราะกล้ามเนื้อจะรัดตัว
4. ก่อนจะขยับตัวต้องจัดท่าทางให้มั่นคงก่อน แนะนำให้ใช้การจับยึดหัวเข่า ให้มั่น ก่อนจะลุก ขยับตัว
5. ถ้ามีอาการกล้ามเนื้อรัดตัวมาก และทำให้เจ็บปวดมาก เวลาขยับตัว การนอน ให้นอนราบกับพื้น โดยนอนคว่ำ เมื่อต้องการเคลื่อนไหวไปไหน จะง่ายกว่า คลานไปได้เลย
6. ห้ามก้ม เน้นตั้งลำตัวให้ตรง การหยิบจับสิ่งของ ให้ใช้การย่อตัว ขึ้นลงตรงๆ และอย่าลืมจับยึดให้มั่น เพื่อให้กล้ามเนื้อท้อง เอวทำงานน้อยที่สุด จะไม่ทำให้กล้ามเนื้อบีบรัดตัว จนเกิดความเจ็บปวดอย่างมาก

 

ศึกษาการทำกายภาพบำบัดจาก Youtube

ทุกวันนี้มีผู้เชี่ยวชาญ นักกายภาพบำบัด หลายท่านได้ออกมาให้ความรู้ ในการรักษาตัวเอง จึงสามารถดูแลรักษาตัวเองที่บ้านได้เลย

 

สรุป

สำหรับการบาดเจ็บปวดหลัง ปวดบั้นเอวแบบเฉียบพลันในครั้งที่ 2 ของผู้เขียน ก็ใช้วิธีการดูแลตัวเอง ดังที่กล่าวมา ก็ช่วยได้อย่างมาก ไม่ลำบากเหมือนครั้งแรก เพราะครั้งแรกนั้น ไม่รู้ตัวเลยว่าเป็นอะไร ป่วยด้วยสาเหตุใด เอาแต่นอนซมอย่างเดียว นอนหงายด้วย กว่าจะพลิกตัว กว่าจะลุกได้เจ็บปวดมาก วันๆ ก็คลานไปมาอยู่ในน้อง เดินเหินลำบากมาก ยาแก้ปวดก็ไม่ได้กิน น้ำแข็งก็ไม่ได้ประคบ ไปตรวจกับโรงพยาบาลก็ไม่พบสาเหตุ

 

ดังนั้นใครที่ไม่อยากจะพบกับความเจ็บปวดทรมานกับการบาดเจ็บปวดหลัง เฉียบพลัน หรือให้ความเจ็บปวดน้อยที่สุด ก็ต้องเตรียมรับมือ ท่องในใจก็พอ ถ้าเคลื่อนไหวผิดท่า มีอาการเจ็บเกิดขึ้น มีเสียงกระดูกบริเวณบั้นเอวลั่นดัง กรุ๊บ เหมือนการหักนิ้วมือ อย่าได้วางใจ ให้เตรียมสิ่งที่จำเป็นให้พร้อม เช่น ยาแก้ปวด อาหารรองท้องไว้กินก่อนกินยา น้ำแข็งไว้ประคบ ที่นอนราบกับพื้น ของใช้ที่หยิบจับได้ง่าย เตรียมให้พร้อม หากมีอาการรุนแรงตามมาจะไม่เจ็บปวดและลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน นั่ง เดิน ยืน นอน ทำงาน