การเพิ่มทุน หรือ ลงทุนเพิ่ม เพื่อขยายกิจการให้มีรายได้ มีผลกำไรมากขึ้น เป็นสิ่งสำคัญที่คนทำธุรกิจ จำเป็นต้องเตรียมวางแผนไว้ตั้งแต่เริ่มต้นลงมือทำธุรกิจ เพื่อให้มีเงินทุนสำรองทั้งไว้เพื่อใช้จ่ายยามธุรกิจซบเซา หรือขยายกิจการ ยามธุรกิจกำลังไปได้ดี น้ำขึ้นให้รีบตัก เพราะธุรกิจต่างๆ รวย รุ่ง และดับไป เป็นช่วงๆ ไม่ได้เป็นอยู่อย่างนั้นตลอดไป ต้องเตรียมรับมือ โกยได้ต้องรีบทำ

 

 

เมื่อเริ่มลงทุนทำธุรกิจ หากกิจการไปได้ดี จะต้องรีบวางแผนบริการการเงิน ศึกษาจากผู้มีประสบการณ์ ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการทำงาน ผู้มีประสบการณ์ หรือเจ้าหน้าที่สินเชื่อธนาคาร เพื่อศึกษาเกี่ยวกับช่องทางบริหารเงินสำหรับการเพิ่มทุน ขยายกิจการในอนาคต เพราะเมื่อธุรกิจไปได้ดี สิ่งที่หลายคนทำก็คือ การใช้เงินผิดทาง ไม่ช่วยส่งเสริมธุรกิจที่ทำ หากประสบปัญหาการเงินหรือกิจการแย่ ก็จะมีโอกาสเลิกกิจการได้ง่ายๆ

 

แม้กิจการจะไปได้ดี แต่การสร้างรายจ่ายมากเกินไป ผ่อนรถ มีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ค่อนข้างมาก ก็ยากจะขยายกิจการ เช่น มีเงินลงทุนหมุนเวียนเดือนละ 50,000 บาท สมมุติว่าได้กำไรเดือนละ 40,000 บาท แต่สร้างรายจ่ายไว้พอๆ กับกำไรที่ได้แต่ละเดือน กรณีนี้ ก็ยากจะขยายกิจการ เพราะไม่มีทุนเพิ่มเพื่อขยายกิจการ และหากรายได้ต่อเดือนเริ่มลดน้อยกว่า 40,000 บาท ในระยะยาว ก็มีโอกาสเกิดปัญหาการเงินขึ้นมาได้ทันที แต่หากมีการเพิ่มทุนอีกเท่าตัว เพิ่มอีก 50,000 บาท อาจจะมีผลกำไรเพิ่มขึ้นรวมต่อเดือน 80,000 บาท กิจการก็จะมีโอกาสขยายต่อไปได้เรื่อยๆ

 

ประสบการณ์ตรงที่ผู้เขียนได้เจอมาเองก็จะเป็นเพื่อนบางคนที่มีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง กับการเริ่มต้นทำไร่ จากที่เคยมีที่ดินเพียง 60 กว่าไร่ ปัจจุบันเกิน 500 ไร่ไปแล้ว มีการขยายกิจการอย่างต่อเนื่อง จากทรัพย์สมบัติที่มีน้อยมาก ปัจจุบันหลายสิบล้านบาท

 

ดังนั้น การบริหารเงินเพื่อไว้สำหรับการเพิ่มทุนหรือขยายกิจการจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะสำหรับผู้กำลังเริ่มต้นธุรกิจ ห้ามนำเงินที่ได้ ผลกำไรที่ได้ไปใช้ผิดทาง หรือใช้ในทางที่ทำให้มีโอกาสเกิดปัญหาการเงินเช่น นำเงินไปซื้อรถใหม่ป้ายแดง ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เป็นต้น สิ่งที่ควรทำจะต้องศึกษาการบริหารเงิน เพื่อขยายกิจการ

ตัวอย่างการบริหารเงินแบบต่างๆ เพื่อไว้เตรียมขยายกิจการ

 

 

การเก็บออมเงินสำรองไว้ลงทุนโดยเฉพาะ

การเก็บเงินออมสำรองไว้สำหรับการลงทุนเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องทำ แต่ก็ต้องวางแผนการขยายกิจการด้วยเช่นกัน จะทำอะไร อย่างไร แบบไหน ต้องมีแผนรองรับ หากกิจการยังไม่มีรายรับมั่นคงมากพอ ต้องระวังการใช้จ่ายให้มาก

 

ศึกษาการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน

ควรหาโอกาสพูดคุยปรึกษากับเจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อของสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อจะได้วางแผนบริหารเงิน จัดทำบัญชีการเงิน เพื่อโอกาสในการกู้เงินเพื่อเพิ่มทุน หรือขยายกิจการในอนาคต เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะหากทำธุรกิจไม่เป็นระบบ แม้จะมีรายรับมากหลายแสนบาทต่อเดือน แต่เชื่อไหมว่าบางคนนั้น บัตรเครดิตยังทำไม่ได้เลย เพราะไม่มีความน่าเชื่อถือในเรื่องการเงิน

 

บางคนขายของในตลาดสด เป็นรถเข็นขายไส้กรอก แต่ทำประวัติการเงินไว้ดี ก็สามารถกู้เงินซื้อบ้านราคาหลักล้านบาทได้ เมื่อมีบ้านมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง การขอกู้เงินจึงเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ง่ายมากกว่าคนมีรายรับหลักล้าน แต่ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และเมื่อสามารถซื้อบ้านได้แล้ว หากได้ทำเลดี ราคาปรับตัวสูงขึ้น ก็จะมีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนมากขึ้น อย่างการรีไฟแนนซ์บ้าน หรือขายทำกำไรก็ยังได้

 

ใช้ภาษีให้เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง

เมื่อมีรายได้ ก็จะต้องเสียภาษี บางคนหลบเลี่ยงไม่ยอมเสียภาษี ซึ่งต้องศึกษาในเรื่องการเสียภาษี เพราะมีทั้งข้อดี ข้อเสีย แต่ข้อดีจะมีมากกว่า บางคนมีรายได้เดือนละแสนกว่าบาท และสามารถหลบเลี่ยงภาษีได้สบายๆ เพราะลักษณ์ของงานที่ทำนั้นยากในการตรวจสอบ แต่ก็เลือกที่จะจ่ายภาษี แต่ละปีก็หลักหมื่น โดยจัดทำบัญชีการเงินอย่างดี เมื่อประวัติการเงินดี ก็สามารถยื่นกู้ซื้อบ้านได้ เมื่อมีบ้านเป็นหลักแหล่ง ก็จะเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น

 

การมีบ้านนั้นเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง เพราะบ้านมีแต่จะปรับราคาสูงขึ้น ในหลายปีข้างหน้าอาจจะปรับราคาขึ้นสูงเกินหนึ่งเท่าตัวหรือมากกว่านั้น นี่คือประโยชน์ที่ได้จากการเสียภาษี หากมองอีกด้านหนึ่งที่เป็นข้อดี บางคนซื้อบ้าน 6 แสน ขาย 8 ล้าน ก็มี เมื่อเปรียบเทียบกับบางคน หาเงินได้หลักแสนเหมือนกัน แต่กู้ซื้อบ้านไม่ผ่าน เพราะประวัติการเงินไม่ดี ไม่เคยเสียภาษี ดังนั้นต้องศึกษาข้อดีข้อเสียของภาษี และหาวิธีใช้ประโยชน์การเสียภาษีให้ได้

 

ศึกษาข้อดี ข้อเสียของการซื้อทรัพย์สินประเภทต่างๆ

เมื่อเริ่มมีรายได้จากการทำธุรกิจส่วนตัว ส่วนใหญ่ก็จะซื้อข้าวของเครื่องใช้ ยานพาหนะหรือสะสมทรัพย์สมบัติต่างๆ ซึ่งต้องศึกษาข้อดีข้อเสียให้ละเอียด เช่น

1. การซื้อบ้าน อสังหาริมทรัพย์

เมื่อมีรายได้ ในความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนจากประสบการณ์ตรงกับการทำธุรกิจส่วนตัว บ้านเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเตรียมวางแผนเพื่อซื้อบ้าน เมื่อเริ่มมีรายได้เข้ามา จะต้องบริหารเงิน ทำประวัติการเงินเพื่อเตรียมซื้อบ้าน หรืออาจจะเป็นตึกแถว อาคารพาณิชย์ เพราะใช้ประโยชน์ทำมาหากิน เปิดร้านค้า ทำสำนักงานได้ มีช่องทางใช้บ้านช่วยทำมาหากินได้ ใช้เป็นที่อยู่อาศัยช่วยทำงานได้

 

ทรัพย์สินเหล่านี้มีความสำคัญ หากได้ทำเลดี ราคามีแต่จะปรับตัวสูงขึ้น ถือเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง อย่าคิดว่าเป็นภาระ อย่างซื้อบ้าน 1 ล้านบาท ใน 5 ปีข้างหน้าหากปรับตัวขึ้นไปที่ 2 ล้านกว่าบาท ก็ถือว่ามีกำไร นอกจากนี้เมื่อจะต้องยื่นกู้ธนาคาร หรือทำธุรกรรมทางการเงิน คนมีบ้าน มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง จะมีความน่าเชื่อถือมากกว่า ทำให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนสำหรับการขยายกิจการมากยิ่งขึ้น

 

2. การซื้อรถยนต์

การซื้อรถยนต์ อาจจะช่วยในเรื่องความสะดวกสบาย แต่รถยนต์ โดยเฉพาะรถใหม่ป้ายแดง จะทำให้เงินทุนหมดลง ชะลอโอกาสสร้างเนื้อ สร้างตัว หรือขยายกิจการ เพระเงินจะหมดไปกับรถ อย่างการซื้อรถใหม่ป้ายแดง 1 ล้านบาท ใน 5 ปีข้างหน้าอาจจะเหลือราคาไม่ถึง 5 แสนบาท จะเห็นว่า เงินหายไปเยอะมาก

 

ดังนั้นหากกำลังเริ่มต้นธุรกิจ รถใหม่จึงไม่ควรซื้อหรือผ่อน เน้นรถเก่า รถมือสองใช้งานไปก่อน เพื่อให้มีเงินลงทุน สร้างรายรับให้มากพอ และมั่นคงเสียก่อน จากนั้นค่อยคิดเรื่องซื้อรถใหม่ หากจะต้องผ่อนรถในระยะยาว แล้วเกิดมีปัญหาการเงิน ก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ อาจจะทำให้งานหลักพังไปทั้งหมด

 

3. การใช้เงินกับการซื้อที่ดิน

การซื้อที่ดินเป็นเรื่องที่จะต้องคิดและวางแผนให้ดี ต้องมีแผนในการสร้างรายได้จากที่ดิน โดยเฉพาะมือใหม่เพิ่งจะลงทุนทำธุรกิจ การนำเงินไปซื้อที่ดิน อาจจะไม่ใช่เรื่องดี ควรนำเงินไปลงทุนสร้างรายได้ให้มากยิ่งขึ้นหรือขยายกิจการจะดีกว่า นอกเสียจากจะได้ที่ดินในทำเลที่ดีจริงๆ หรือมีช่องทางสร้างรายได้จากที่ดิน ที่นา ไร่ สวน

 

สิ่งที่จะต้องทำเมื่อซื้อที่ดิน ก็มีหลายเรื่องที่สำคัญมาก เช่น อย่าให้ใครเข้ามาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะคนในครอบครัว เพราะหากมีปัญหาการเงินจำเป็นจะต้องขาย อาจจะกลายเป็นเรื่องให้ทะเลาะกันได้ วิธีคิดของคนรุ่นเก่าจะเน้นซื้อที่ดิน สะสมที่ดินไว้มาก แต่หากใช้เงินลูกหลาน ก็จะเกิดปัญหาเงินจมไปกับที่ดิน ไม่มีเงินเพื่อขยายกิจการ

 

หากมีปัญหาการเงินจะสร้างความลำบาก ดังนั้นหากจำเป็นต้องซื้อที่ดินหรือได้ซื้อที่ดินมาแล้ว ควรศึกษาในเรื่องการแบ่งที่ดิน ไว้หลายแปลง เพราะหากมีปัญหาการเงิน อาจจะขายบางแปลง หรือนำไปจำนองเฉพาะบางแปลง แต่อย่างน้อยก็ต้องเผื่อไว้ อย่างน้อยก็แปลงเล็กๆ สักแปลง แต่ทั้งการจำนองหรือขายที่ดิน ไม่ใช่เรื่องง่าย และได้ราคา ที่น่าหนักใจก็คือ หากคนในครอบครัวเข้าเกี่ยวข้อง เรื่องขายอาจจะทำไม่ได้เลย กลายเป็นปัญหาใหญ่ในครอบครัว

 

กรณีต้องการสร้างบ้านบนที่ดินที่ได้ซื้อเก็บไว้ ต้องศึกษารูปแบบบ้าน แบบไหนที่สามารถเข้าแบงก์ได้ บ้านที่สร้างไม่ได้มาตรฐาน จะไม่มีราคา เรื่องนี้สำคัญสำหรับคนทำธุรกิจ เพราะบางครั้งอาจจะมีเหตุต้องใช้เงิน การนำบ้านเข้าแบงก์เป็นเรื่องปกติ เพื่อเพิ่มทุน หรือหาเงินมาลงทุนเพิ่ม หรือแม้แต่การขายบ้านก็ตามที บ้านที่ใช้แบบมาตรฐานจะมีราคาสูงกว่า จึงต้องศึกษาในเรื่องนี้ให้ดี บางคนทำบ้านอินดี้มาก เวลาที่้มีปัญหาการเงินต้องการขาย ก็ไม่ได้ราคา เพราะไม่ใช่บ้านในแบบที่คนส่วนใหญ่ใช้กัน ไม่ใช่บ้านในแบบที่ธนาคารให้ราคา เอาเข้าแบงก์ไม่ได้ แบงก์ไม่รับ การขายก็ยาก คนซื้อกดราคา อ้างจะทุบทิ้งอย่างเดียว บ้านแบบนี้ ชาวบ้านเค้าไม่ทำกัน

 

4. การใช้เงินกับการซื้อของใช้ในบ้าน

ในช่วงที่กำลังเริ่มธุรกิจ สร้างเนื้อสร้างตัว การมีบ้าน ยังไม่ควรตกแต่งบ้านมากนัก ยังไม่ควรลงทุนมากเกินไปนัก เงินจะจมเปล่าๆ ให้เน้นนำเงินไปลงทุนก่อน เพื่อสร้างความมั่นคงในกิจการก่อน เมื่องานเริ่มอยู่ตัว จึงเริ่มทำบ้าน เพราะการแต่งบ้านนั้นจะใช้เงินค่อนข้างมาก เงินจะจมไปกับบ้านมากเกินไป จะเสียโอกาสขยายกิจการ

 

5. การใช้เงินกับการซื้อของใช้ส่วนตัว

ของใช้ส่วนตัว ควรเน้นของใช้ที่มีคุณภาพดี อย่างเสื้อผ้า รองเท้า มือถือ หรือของใช้อื่นๆ สินค้าที่ดี ก็จะใช้งานได้นาน ไม่ต้องเปลี่ยนบ่อยๆ ทำให้เสียเงินโดยใช่เหตุ และต้องหลีกเลี่ยงสินค้าที่มีค่าใช้จ่ายในการดูแลภายหลังที่ค่อนข้างสูง เน้นเก็บเงินไว้สำหรับการลงทุน หรือไว้ขยายกิจการก่อน

 

ความสำคัญในการสำรองเงินไว้เพิ่มทุนหรือขยายกิจการ

การทำธุรกิจในทุกวันนี้ อาจจะมีบางอย่างต่างไปจากคนรุ่นก่อน รุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายได้เคยทำ วิธีคิดของคนรุ่นหนึ่งอาจจะใช้ไม่ได้กับคนรุ่นปัจจุบันนี้ การบริหารเงิน การขยายกิจการ และรูปแบบการทำธุรกิจมีความซับซ้อน เมื่อจำเป็นจะต้องนำเงินออกไปใช้เพิ่มทุน คนใกล้ตัวอาจจะมองว่า ธุรกิจกำลังมีปัญหา จึงต้องนำเงินไปใช้ หรือพากันเครียด กลัวงานมีปัญหา เช่น มีเงินหมุนเวียน 50,000 บาท ทำกำไรได้ 40,000 บาท รายจ่าย เดือนละ 30,000 บาท มีเงินเก็บสบายๆ เดือนละ 10,000 บาท

 

แต่มีความจำเป็นจะต้องเพิ่มทุน เพราะอาจจะมีคู่แข่งกำลังเกิดขึ้น หรือขยายกิจการ ต่อยอดงานที่ทำ เพื่อป้องกันความเสี่ยง จึงจำเป็นต้องนำเงินมาลงทุนเพิ่ม หากคนรอบข้างไม่เข้าใจ ก็จะต้องเหนื่อยใจกับการโต้เถียง หรือทะเลาะกัน อีกฝ่ายอาจจะมองว่า แค่นี้ก็ดีแล้ว เงินเก็บก็มี จะทำให้มากเกินไปทำไม แต่อีกฝ่ายที่มีความเข้าใจในการทำธุรกิจมากกว่า ก็จะมองเห็นจุดอ่อน หากไม่ขยายกิจการ ไม่ต่อยอด หากงานมีปัญหา รายรับลดน้อยลง ปัญหาการเงินก็จะเกิดตามมาแน่นอน ตอนนั้นอาจจะไม่เหลืออะไรเลยก็ได้

 

นี่คือประสบการณ์ตรง ที่ผู้เขียนเจอกับคนใกล้ตัว โดยเฉพาะคนในครอบครัวซึ่งหากไม่เคยมีประสบการณ์ทำธุรกิจมาก่อน ระวังอย่าให้มายุ่งกับการเงิน บางคนเก็บเงินเข้าบัญชีพ่อแม่ ซึ่งไม่สามารถถอนออกมาได้ เพราะพ่อแม่กลัวเงินหมด ไม่เข้าใจเรื่องการเพิ่มทุน พากันคิดว่า ลูกต้องมีปัญหาการเงิน เมื่อเจอปัญหาแบบนี้ก็จะทำให้ขยายกิจการไม่ได้

 

ดังนั้น เมื่อเริ่มทำธุรกิจ เรื่องการบริหารเงิน ต้องจัดการเอง ความผิดพลาดจะเกิดได้น้อยมาก หากเน้นนำเงินไปเพิ่มทุน หรือขยายกิจการ ต่อยอดกิจการ ไม่นำเงินไปใช้ผิดทาง แม้ธุรกิจบางตัวจะล้มหายตายจากตามยุคสมัยหรือความนิยม แต่ก็จะยังมีธุรกิจอื่นมารองรับ ไม่พังไปพร้อมกันแน่นอน ผุู้เขียนเคยทำธุรกิจส่วนตัว รุ่งในช่วงแรก แต่ร่วงหนักและยาวจนถึงปัจจุบัน เพราะไม่ได้สำรองไว้ ไม่ได้ขยายกิจการเผื่อรองรับ

 

การทำธุรกิจใดๆ ก็ตาม หากมีโอกาสแล้วไม่เพิ่มทุน น้ำขึ้นไม่รีบตัก หรือไม่ขยายกิจการ หรือไม่หาทางต่อยอดสร้างรายได้จากช่องทางอื่นเพื่อกระจายความเสี่ยง สร้างรายได้หลายๆ ทาง ก็จะมีโอกาสพลาดค่อนข้างสูง การลงทุนเพิ่มจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับคนทำกิจการ หรือจะทำงานประจำก็ตาม ต้องแบ่งเงินไปลงทุนไว้หลายๆ ทาง เช่น เล่นหุ้น ทำกิจการส่วนตัว ทำอาชีพเสริม เป็นต้น

 

การเพิ่มทุน ลงทุนเพิ่มเพื่อขยายกิจการควรจะหยุดเมื่อใด

หลายคนอาจจะมีคำถามในลักษณะนี้ หากเป็นคนโสด เมื่อแน่ใจว่าชาตินี้ใช้เงินไม่หมด ไม่ลำบากตอนแก่ชรา และยังมีเหลือไว้เผื่อบริจาค ทำบุญให้ตัวเอง นั่นก็อาจถึงเวลาที่เพียงพอแล้ว ถึงเวลาที่อาจจะหยุดทำงาน แต่หากมีลูกหลานต้องดูแล ก็อาจจะต้องขยายกิจการไปเรื่อยๆ เพื่อให้ลูกหลานมีชีวิตอยู่อย่างสุขสบาย

 

นอกจากนี้ก็จะมีเรื่องการบริหารเงิน การหาเงินและออมเงินไม่ทำให้รวยหรือมีความมั่นคงทางการเงิน จำเป็นจะต้องหาทางใช้เงินช่วยทำงาน บางคนนำเงินไปเล่นหุ้นรับเงินปันผลทุกปี อาจจะซื้อหุ้นเก็บไว้สัก 3,000,000 บาท ก็จะมีรายได้จากเงินปันผลปีละประมาณ 90,000 - 150,000 บาท สำหรับคนโสด ก็เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายในแต่ละเดือน หากต้องการใช้เงินก้อน ก็ขายหุ้นบางส่วน นำเงินมาใช้จ่าย เป็นต้น

 

ข้อควรระวังในเรื่องการบริหารเงินออม

เมื่อมีรายได้ การบริหารเงินที่ได้ เพื่อไว้สำหรับเพิ่มทุน หรือลงทุนเพิ่ม เพื่อขยายกิจการ มีหลายเรื่องที่ต้องระวัง เพื่อป้องกันการใช้เงินผิดพลาด เช่น
1. ระวังการนำเงินไปใช้ผิดทาง เช่น นำกำไรไปใช้่จ่ายฟุ่มเฟือย อย่าประมาท ต้องศึกษาจุดอ่อน จุดแข็งของกิจการที่ทำอย่างละเอียด
2. ระวังการให้ผู้อื่นช่วยบริหารเงิน โดยเฉพาะคนที่ไม่มีความรู้ในเรื่องการทำธุรกิจ ที่สำคัญมากก็คือพ่อแม่ที่ยังมีความคิดแบบหัวโบราณ ต้องเก็บเงินไว้ ห้ามใช้ กลัวเงินหมด หรือแม้แต่คู่ชีวิตก็ตาม เพราะบางคนนั้นไม่มีความเข้าใจในเรื่องการเพิ่มทุน การขยายกิจการ จึงไม่ยอมให้ใช้เงิน ทำให้เกิดปัญหาตามมา ทะเลาะโต้เถียงกัน กว่าจะเข้าใจกัน บางทีธุรกิจก็พังไปแล้ว

ข้อควรระวังการใช้เงินสำหรับการทำธุรกิจส่วนตัว

สำหรับมือใหม่ที่เริ่มทำธุรกิจส่วนตัว หลายคนจะไปได้ดีมาก ในช่วงแรก จึงอาจชะล่าใจ ประมาท คิดว่ารุ่งแล้ว ไปได้ดีแล้ว จึงขาดความระมัดระวังในเรื่องการใช้เงิน ดังนั้นจะต้องศึกษาให้รอบด้าน ถึงความมั่นคงในการงาน จุดอ่อน จุดแข็งของกิจการที่ทำอยู่ เพราะงานทุกอย่างมีรุ่งและร่วง เมื่อถึงเวลาของมัน ต้องอ่านให้ขาด

 

อย่างทุกวันนี้เด็กเกิดใหม่น้อยลง อาชีพเกี่ยวกับการศึกษาจะมีผลกระทบแน่นอน ธนาคารมีการนำเทคโนโลยี่ AI มาใช้ การปิดสาขาจะเริ่มมากขึ้น พนักงานตกงานมากขึ้น สำนักพิมพ์ต่างๆ ปิดกิจการเยอะมาก ที่อยู่รอดก็ผันตัวเองมาทำเว็บไซต์ ทำสื่อออนไลน์ เพราะหนังสือขายไม่ออก ร้านหนังสือในอนาคตก็จะเริ่มปิดตัวลง เป็นต้น

 

บางคนทำร้านอาหาร กิจการไปได้ดีมาก แต่เปิดร้านใกล้มหาวิทยาลัย เมื่อถึงเวลาปิดเทอมใหญ่ก็ต้องปิดยาว เพราะไม่มีคน ช่วงเวลาที่ขายดี ไม่เตรียมเงินไว้สำรองไว้ ดันสร้างหนี้ไว้มากเกินไป ไม่ได้เผื่อเงินไว้ในยามที่ไม่มีรายได้ อย่างการรีบซื้อรถป้ายแดงเร็วเกินไป ทำให้รับภาระรายจ่ายไมไหว ต้องปิดกิจการ รถก็ต้องขาย

 

ดังนั้นวิเคราะห์การเงินของตัวเองให้รอบคอบ ศึกษาประสบการณ์ของคนที่ผิดพลาดหรือล้มเหลว เพื่อให้รู้ทันและหาทางป้องกันได้ความผิดพลาด ส่วนการศึกษาประสบการณ์กับผู้ประสบความสำเร็จ เป็นเรื่องจำเป็น เพื่อให้สามารถก้าวไปข้างหน้าได้โดยไม่ผิดพลาด ประสบการณ์ 2 ด้านนี้ ต้องรู้ทั้ง 2 ด้าน จึงจะเอาตัวรอดได้